วันจันทร์

มดลูกต่ำ ทำไงดี

มดลูกต่ำ ทำไงดี
เรื่องของกระบังลมหย่อน หรือมดลูกต่ำนั้น คือภาวะที่กล้ามเนื้อและพังผืดต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่รองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานมีอาการอ่อนแรงลง จึงทำให้เกิดการหย่อน ยื่น หรือการเคลื่อนต่ำลงมาของมดลูก กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ผนังช่องคลอดหรือแม้กระทั่งลำไส้  อันนับเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณผู้หญิงจำนวนมากเกิดอาการปวดหน่วงท้องน้อยหรือปวดหลัง รู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้อยื่นโผล่มาจุกอยู่ในช่องคลอด ระคายเคืองในช่องคลอด มีตกขาวซึ่งอาจปนเลือดหรือหนอง
และที่สำคัญมากๆ คือ ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจในการมีเซ็กส์ ตั้งแต่รู้สึกว่าหลวม ไม่กระชับ ไปจนกระทั่งมีเสียงลมลอดออกจากช่องคลอดในขณะเบ่งเกร็ง หรือกำลังขยับ ซึ่งสร้างความอับอายให้กับคุณผู้หญิง
ความจริงเรื่องนี้ ดูภายนอกไม่รู้หรอกครับ ต้องอาศัยการสังเกตดูว่า ภายในช่องคลอดซึ่งปกติยาวประมาณ 3 นิ้ว หรือเมื่อลองเอานิ้วสอดเข้าไปจนสุดแล้ว ปลายนิ้วจึงอาจสัมผัสไปถึงปากมดลูกได้ แต่ถ้าใครสอดเข้าไปแค่ครึ่งนิ้ว หรือสัมผัสดูเหมือนมีอะไรห้อยย้อยลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลองออกแรงเบ่งหรือไอแรงๆ ดู แล้วพบว่ายิ่งยื่นห้อยลงมาแล้วละก็ แสดงว่าต้องมีการหย่อนของกระบังลมเกิดขึ้นบ้างแล้วไม่มากก็น้อย รายที่เป็นมากอาจพบปัสสาวะเล็ดออกมาพร้อมกับเวลาไอด้วย และควรลองขมิบช่องคลอดดูด้วยว่ายังรู้สึกว่ามีผนังช่องคลอดมาบีบรัดนิ้วมืออย่างกระชับแน่นหรือไม่ เพื่อประเมิณความแข็งแรงของกลมเนื้อที่หย่อนเหล่านั้น
สาเหตุของกระบังลมหย่อน ล้วนเกิดจากปัจจัยที่ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณช่องคลอดและเชิงกราน อ่อนแอลง ซึ่งอาจจะมาจากอายุที่มากขึ้นจึงเกิดการเสื่อมสภาพไปตามวัย แต่ก็มีภาวะหลายอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดกระบังลมหย่อนได้เร็วขึ้น
1. คลอดบุตรทางช่องคลอด อาจเกิดการยืดขยายหรือฉีกขาดของกล้ามเนื้อบริเวณฝีเย็บและหูรูดรอบทวารหนัก นอกจากนี้ ถ้าคลอดบ่อย มีลูกมาจนแทบจะไม่ต้องเบ่งเลยเวลาคลอดคนหลังๆ อย่างนี้รับรองว่าหย่อนแน่ๆ ครับ ยิ่งถ้าหลังคลอดไม่ขยันออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อกระบังลมให้บ่อยๆ เพื่อช่วยให้กระชับเข้าที่ ก็ยิ่งจะมีแต่หย่อนลงทุกวัน
2. มดลูกมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก จากการที่กล้ามเนื้อผนังมดลูกหนาหรือมีเนื้องอกที่มดลูก
3. การเพิ่มภาระของระบบค้ำจุนหรือเพิ่มความดันในช่องท้องอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง เช่น ในคนที่ท้องผูกเป็ประจำ ยกของหนักยอู่ตลอดเวลาหรือยืนเป็นเวลานานๆ รวมไปถึงการมีเนื้องอกอื่นในช่องท้องหรือมีน้ำในช่องท้อง เช่นในคนที่เป็นโรคตับหรือท้องมาน เป็นต้น
4. ปัจจัยอื่น เช่น เชื้อชาติและกรรมพันธุ์  พบว่ามีความเกี่ยวข้องอยู่บ้าง เนื่องจากมักพบภาวะนี้ในคนผิวดำมากกว่าคนผิวขาว
ขมิบ Vs รีแพร์  แก้ได้
การรักษาโรคนี้ต้องลงทุนลงแรงกันเสียหน่อยครับ เพราะไม่มีตัวยาใดๆในโลกนี้ ทั้งแผนปัจจุบัน แผนโบราณหรือแม้แต่แผนอนาคต รวมทั้งว่านชักมดลูกหรือชักแม่น้ำทั้งห้า ฯลฯ ที่จะทำให้โรคนี้หายได้
1. ฝึกขมิบ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อช่องคลอดและเชิงกรานให้มีความแข็งแรง ซึ่งเหมาะสำหรับในรายที่เป็นไม่มาก ด้วยการขมิบแล้วเกร็งไว้นับ 1 – 10 ครั้งติดต่อกันแล้วทำหลายๆชุดต่อวัน หรืออาจขมิบช่องคลอด 5 ครั้งทุกๆ ครึ่งชั่วโมงตลอดทั้งวันก็ได้ นับเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัดไม่ต้องลงทุน ทำได้ทุกที่
2. รีแพร์ หรือเย็บซ่อมทำสาว คือการผ่าตัดเอาเนื้อของผนังช่องคลอดส่วนที่หย่อนยื่นเกินออกมาทิ้งไป แล้วซ่อมแซมเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อกระชับขึ้น ตกแต่งผนังช่องคลอดใหม่ให้แคบลง ทำให้เพิ่มความพึงพอใจในการมีเซ็กส์เพิ่มขึ้น และรักษาการหย่อนยานของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่ส่วนทวารหนักให้กลับเป็นปกติ ซึ่งในรายที่หย่อนไม่มากอาจเย็บเฉพาะผนังช่องคลอดด้านหลังเรียกว่า Posterior Repair แต่ถ้าหย่อนมากต้องเย็บซ่อมทั้งผนังช่องคลอดด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งเรียกว่า Antero-Posterior Repair ซึ่งแน่นอนว่าก่อนทำ แพทย์ต้องประเมินจากการซักประวัติและตรวจร่างกายให้ดีก่อนเข้ารับการรักษานะครับ

นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช (สูตินรีแพทย์)
 www.pooyingnaka.com
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น